ผลิตภัณฑ์ ผลงานเด่น สถานีวิจัยทับกวาง

ภาควิชาสัตวบาล                                                      คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สุกรลาร์จไวท์จุด (Spotted Large White)

สถานีวิจัยทับกวางเริ่มต้นปรับปรุงพันธุ์สุกรในปี พ.ศ. 2515 เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การฝึกงานนิสิต และนักศึกษา รวมทั้งจำหน่ายสุกรพันธุ์ดีให้กับเกษตรกร จากข้อมูลพบว่า ได้จำหน่ายสุกรให้แก่เกษตรกรไปแล้วรวม ทั้งสิ้น 68,829 ตัว แยกเป็นสุกรพันธุ์จำนวน 14,541 ตัว ลูกสุกรขุนจำนวน ๕๔,๒๘๘ ตัว ต่อมาได้ปรับปรุงพันธุ์สุกรให้เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงของประเทศไทย โดยพัฒนาสุกรลาร์จไวท์จุด เพื่อใช้ในการผลิตลูกผสมสองสาย และลูกผสมสามสาย

สุกรลาร์จไวท์จุด เป็นสุกรที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาขึ้นที่สถานีวิจัยทับกวาง เกิดจากการผสมพันธุ์ภายในฝูงที่นำเข้าจากประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 และ 2512 เพื่อใช้ปรับปรุงพันธุกรรมของสุกรภายในประเทศไทยโดยไม่ให้เลือดชิด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2520 เกิดการผสมแบบเลือดชิดขึ้นในสุกรพันธุ์ลาร์จไวท์ โดยช่วงที่ ๑ เป็น การผสมของลูกที่เกิดจากการใช้พ่อร่วมกัน และช่วงที่ 2 ผสมระหว่างพี่น้องร่วมพ่อ-แม่เดียวกัน  เกิดลูกสุกรที่มีจุดสีดำบนลำตัวขึ้นมา 2 ตัว เป็นตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมีย 1 ตัว จากลูกสุกรที่เกิดทั้งหมด 4 ตัว จากการเริ่มต้นด้วยลูกสุกรสองตัวดังกล่าว  ได้มีการผสมแบบเลือดชิด และมีการคัดเลือกลักษณะตัวด่างอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของสุกรสายพันธุ์ดี ชื่อว่า สุกรลาร์จไวท์จุด ได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์เป็นพันธุ์แรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2541 และมีการพัฒนาสายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

สุกรลาร์จไวท์จุด จัดเป็นสุกรกลุ่มที่ให้เบคอน (bacon type) หรือเนื้อสามชั้น หัวมีขนาดใหญ่ หูตั้ง ลำตัวยาว ลักษณะทั่วไปเหมือนสุกรพันธุ์ลาร์จไวท์ แต่มีขนสีดำเป็นวงบนพื้นสีขาวกระจายอยู่ทั่วลำตัว ซึ่งจุดสีดำนี้จะมองเห็นเป็น 2 วง คือ วงนอกสีดำจาง วงในจะเป็นสีดำเข้ม มีการเจริญเติบโตที่ดี กินอาหารเก่ง ลูกดก และเลี้ยงลูกเก่ง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ในสภาวะที่โภชนาการไม่สมบูรณ์ ในขณะที่สุกรสายพันธุ์การค้าชนิดอื่นไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ยิ่งไปกว่านี้สุกรลาร์จไวท์จุดทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีนิสัยเชื่องมากข้อดีของสุกรลาร์จไวท์จุด คือ กินอาหารเก่ง ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศแบบร้อนชื้นได้ดี สามารถใช้อาหารคุณภาพต่ำได้ดีกว่าสุกรพันธุ์แท้พันธุ์อื่นๆ เมื่อสุกรมีน้ำหนักตัว 150 กิโลกรัมขึ้นไป จะมีการเจริญเติบโตทางร่างกายน้อย ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น เพศเมีย เลี้ยงลูกเก่ง และเมื่อนำไปผสมข้ามกับสุกรสายพันธุ์อื่นที่มีสีขาวลูกสุกรที่เกิดขึ้นจะมีสีขาวทุกตัว จากข้อดีดังกล่าวจึงนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาสุกรลูกผสมสองสาย TRS 50

Travel

การผลิตโคเนื้ออินทรีย์ทับกวาง (TK-Beef)

สถานีวิจัยทับกวาง ได้เลี้ยงโคเนื้อมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถานีฯ ต่อมาฝูงโคเนื้อดังกล่าวได้ถูกนำไปปรับปรุงพันธุ์ที่กำแพงแสน เมื่อปี พ.ศ. 2512 จนกระทั่งได้เป็นสายพันธุ์โคเนื้อลูกผสมยุโรปพันธุ์กำแพงแสน (พื้นเมือง 25 %, บราห์มัน 25 % และชาโรเลส์ 50 %) จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 ทางสถานีวิจัยทับกวางได้นำกลับมา จากศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือและโคอีกครั้ง ปัจจุบันมีโคเนื้อ ประมาณ 90 – 100 ตัว โดยปล่อยให้แทะเล็มหญ้าสดและตัดหญ้าสดให้กิน การผลิตโคเนื้อมุ่งเน้นไปที่ระบบการจัดการโคเนื้อให้มีความเหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงของประเทศไทยที่มีอากาศแบบร้อนชื้นโดยทำการศึกษาและพัฒนาระบบการผลิตเนื้อโคแบบต้นน้ำและกลางน้ำใช้โคเนื้อลูกผสมยุโรปพันธุ์กำแพงแสนที่มีคุณสมบัติเป็นโคเนื้อที่ทนร้อนและสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพอาหารที่ไม่สมบูรณ์ และใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์พื้นฐานในการผลิตลูกโคเนื้อที่เลี้ยงง่าย โตไว และเนื้อมีคุณภาพดีสู่เกษตรกร

แนวทางการผลิตโคเนื้ออินทรีย์ทับกวาง ( TK-Beef) นั้น เป็นการผลิตเนื้อโคที่ปลอดสารเคมียาปฏิชีวนะ และปลอดสารพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยศึกษาประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อลูกผสมสายพันธุ์ยุโรปที่เลี้ยงแบบปล่อยแทะเล็มการจัดการแปลงหญ้าที่เหมาะสมมีแนวทางในการปฏิบัติ คือ

  1. การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ โคเนื้อลูกผสมที่ต้องการ มีสายเลือดพันธุ์ยุโรปไม่เกินร้อยละ 50 โดย วิธีการผสมเทียมแบบเป็นฤดูกาลและจัดชุดผสม โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ในการกระตุ้นแม่โคให้เป็นสัด
  2. การจัดการด้านอาหารโดยมีทั้งปล่อยแปลงให้โคเนื้อได้แทะเล็ม ตัดสดให้กินและตัดเพื่อทำหญ้าหมักสำรองไว้ช่วงเวลาฤดูแล้ง จัดการด้านอาหารข้น TMR เสริมให้แม่โคหลังคลอดลูกเพื่อช่วยให้แม่โคมีความสมบูรณ์พันธุ์ที่ดีและเร็วขึ้นสามารถเลี้ยงลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและผสมพันธุ์ได้เร็วขึ้น
  3. การจัดการด้านผลผลิตมีเป้าหมายการผลิต คือ ผลิต ลูกโคที่มีคุณลักษณะดีตรงตามสายพันธุ์เพื่อ ได้แม่พันธุ์โคเนื้อที่ดี ส่วนลูกโคที่มีคุณลักษณะไม่สามารถใช้เป็นแม่พันธุ์ได้ ทำการขุนด้วยหญ้าธรรมชาติให้มีน้ำหนัก 350 – 400 กิโลกรัม ก่อนนำเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคต่อไป

กุนเชียงเกษตร เคยู พอร์ค (KU PORK)

สถานีวิจัยได้แปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรชนิดต่างๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้สร้างสั่งสมองค์ความรู้ และถ่ายทอดให้กับ นิสิต นักศึกษา และผู้ประกอบการทั้งในและนอกสถานที่ มากกว่า 2,500 ราย ทั้งนี้เพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มมูลค่าเนื้อสุกรในส่วนสถานที่ผลิตสินค้าแปรรูปจากเนื้อสุกรนั้น ทางสถานีวิจัยทับกวาง ได้รับใบอนุญาตผลิต อาหารเลขที่ 19-2-01056 ให้ตั้งสถานที่ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ .ศ. ๒๕๒๒ จากส านักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556 และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปัจจุบันได้ต่ออายุจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การต่อยอดองค์ความรู้นั้น ทางสถานีวิจัยทับกวางได้ผลิตสินค้าแปรรูปจากเนื้อสุกรหลากหลายชนิด แต่ที่ต้องการยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพและปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคคือการผลิตกุนเชียงเกษตรเคยู พอร์ค (KUPORK) ได้รับรหัสเลขที่ อย. 19-2-01056-2-001 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้วัตถุเจือปนอาหารในการปรับปรุงคุณภาพสีแดง ทางสถานีฯ ได้วิจัยสารสกัดจากธรรมชาติที่ให้สีแดงคือน้ำครั่ง ต่อมาได้พัฒนาเป็นผงครั่ง เพื่อนำมาใช้ทดแทนโปตัสเซียมและโซเดียมไนไตรท์ในการผลิตกุนเชียงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผงครั่งเชิงการค้าจำหน่ายให้ผู้ประกอบการผลิตกุนเชียงจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพให้กับผู้บริโภค